รูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ทุ่งเทินโมเดล สำนักงาน
ผู้วิจัย นายมงคล ทองเสี่ยน
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ทุ่งเทินโมเดล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 2) เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ทุ่งเทินโมเดล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 3) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ทุ่งเทินโมเดล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ทุ่งเทินโมเดล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ของ ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน และหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเสอเพลอ ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ผู้บริหาร และครู และนักเรียนของโรงเรียนในเขตตำบลเสอเพลอ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบบันทึกการประชุมเชิงปฏิบัติการ แบบประเมินความเป็นไปได้ของรูปแบบ และแบบสอบถามความพึงพอใจ ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญทุกฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางสังคมศาสตร์ คำนวณหา ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูล เชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพปัญหาการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโรงเรียนในกลุ่มทุ่งเทินโมเดล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 พบว่า อยู่ในระดับมาก ส่วนความต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด
2. รูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้เสอเพลอโมเดล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ที่สร้างขึ้น พบว่า วิธีการดำเนินงาน 5 ร่วม ได้แก่ ร่วมคิด คือ ร่วมระดมความคิดการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ร่วมวางแผน คือ การวิเคราะห์ภารกิจตามกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้แก่ โรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และองค์การบริหารส่วนตำบล จากนั้นร่วมกันจัดทำคู่มือการดำเนินงาน ร่วมดำเนินการ คือ โรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ องค์การบริหารส่วนตำบล ดำเนินการตามคู่มือการดำเนินงาน ร่วมประเมิน คือ การนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผล และร่วมชื่นชม คือ เมื่อโรงเรียนผ่านการประเมิน และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติและผลการตรวจสอบความเป็นไปได้จากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้โดยภาพรวมอยู่ในระดับ มาก
3. ผลการทดลองใช้ และประเมินรูปแบบ พบว่า ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) โรงเรียนในกลุ่มทุ่งเทินโมเดล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยร้อยละเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.55 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยร้อยละเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93
4. ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อรูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ทุ่งเทินโมเดลโมเดล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ตามความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งเทินโมเดล ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารและครู พบว่า มีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.28
5. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ทุ่งเทินโมเดลโมเดล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 1 ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.33