ชื่องานวิจัย การพัฒนาลีลามือเพื่อส่งเสริมความพร้อมด้านการเขียน
ชื่องานวิจัย การพัฒนาลีลามือเพื่อส่งเสริมความพร้อมด้านการเขียน
ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านหัวช้าง ด้วยชุดฝึกลีลาเส้น
ผู้วิจัย วิกาญจน์ดา จันทร์พิรักษ์
ปีที่วิจัย 2556
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาชุดฝึกลีลาเส้น เพื่อส่งเสริมความพร้อมด้านการเขียนของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อพัฒนาความพร้อมด้านการเขียนของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 3)เพื่อศึกษาความ พึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่มีต่อการจัดประสบการณ์ด้วยชุดฝึกลีลาเส้น
กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน ชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนบ้านหัวช้าง ปีการศึกษา 2556
จำนวน 4 คนได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง ( Purposive Sampling ) เพราะเป็นชั้นเรียนที่ผู้วิจัยรับผิดชอบจัดประสบการณ์อยู่
เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย คือ ลีลาเส้นพื้นฐานในการเขียนพยัญชนะไทย จำนวน 13 เส้น
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 40 แผนชุดฝึกลีลาเส้น จำนวน 40 ชุด แบบทดสอบวัดความพร้อมด้านการเขียน และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่มีต่อการจัดประสบการณ์ด้วยชุดฝึกลีลาเส้น จำนวน 10 ข้อ
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดฝึกลีลาเส้น สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.25/85.31 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีความพร้อมด้านการเขียน ผ่านเกณฑ์ 4 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ไม่ผ่านเกณฑ์ 0 คน คิดเป็นร้อยละ 0
3. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีความพึงพอใจต่อการจัดประสบการณ์ด้วยชุดฝึกลีลาเส้นอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.85