การใช้และพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วม
ชื่อผู้ศึกษา กาญจนา ปวนสุรินทร์
ปีที่ศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การศึกษาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ เรื่องอัตราส่วนและร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ เรื่องอัตราส่วนและร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ตามเกณฑ์ 75/75 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่สอนโดยการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ เรื่องอัตราส่วนและร้อยละ และ (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ เรื่องอัตราส่วนและร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนน่านนคร ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple random Sampling) จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ จำนวน 10 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียน โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่สร้างขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีประสิทธิภาพและสถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน Dependent Sample t - test
ผลการศึกษาพบว่า (1) ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เท่ากับ 88.38/86.15 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 75/75 (2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนน่านนคร หลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สูงกว่าก่อนการเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ (3) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ( x = 4.61 )