การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่าน เพื่อการสอนซ่อมเสริมนักเรียนชั้นประถม
ชื่องานวิจัย การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่าน เพื่อการสอนซ่อมเสริมนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อ่านไม่ได้
ชื่อผู้วิจัย นางทิพย์สุดา วัลลภธารี
ปีการศึกษา 2556
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เปรียบเทียบผลการประเมินความสามารถในการอ่านทั้งก่อน และหลังการสอนซ่อมเสริมโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อ่านไม่ได้ จำนวน 9 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนคันนายาว (ธารินเจริญสงเคราะห์) สำนักงานเขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/3, 5/4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนคันนายาว (ธารินเจริญสงเคราะห์) สำนักงานเขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร จำนวน 9 คน ซึ่งมีผลจากการประเมินการอ่านอยู่ในระดับคุณภาพ 1 (อ่านไม่ได้) ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Selection) ซึ่งผู้วิจัยใช้แบบประเมินความสามารถในการอ่านของนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนของแบบประเมินความสามารถ ในการอ่าน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในภาคเรียนที่ 1 โดย หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
สถิติที่ใช้ในการเปรียบเทียบผลการประเมินความสามารถในการอ่าน ของนักเรียน ก่อนการสอนซ่อมเสริมและหลังการสอนซ่อมเสริมโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน โดยใช้ค่าทางสถิติ T-test และการหาประสิทธิภาพ E1/E2 ของแบบฝึกทักษะการอ่าน เพื่อการสอนซ่อมเสริมนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อ่านไม่ได้ ตามเกณฑ์ 80/80
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบฝึกทักษะการอ่าน เพื่อการสอนซ่อมเสริม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อ่านไม่ได้ และ 2) แบบประเมินความสามารถในการอ่านของนักเรียน สังกัดกรุงเทพมหานครโดย หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย คือ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน 2556 เป็นระยะเวลา 17 สัปดาห์ ๆ ละ ๓ วัน ได้แก่ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ วันละ 50 นาที/คาบ รวมทั้งสิ้น 51 คาบ ดำเนินการสอน 48 คาบ ทดสอบ ๓ คาบตั้งแต่เวลา 07:30 – 08.20 น.
ผลการวิจัย พบว่า
1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่าน เพื่อการสอนซ่อมเสริมนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อ่านไม่ได้ มีค่าเท่ากับ 81.81/80.11 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ผลการประเมินความสามารถในการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อ่านไม่ได้ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 9 คน หลังการสอนซ่อมเสริมสูงกว่าการประเมินความสามารถ ในการอ่านก่อนการสอนซ่อมเสริมโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน