รูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพ ของโรงเรียนฤทธิยะวรรณา
ชื่อเรื่อง รูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพ ของโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย สำนักงานเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร
ผู้วิจัย นางสุนันท์ วชิรมนตรี
ปีการศึกษา พ.ศ.2555 – 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สภาพปัญหาการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายใน 2) รูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายใน 3) ผลการใช้รูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายใน 4) ความสัมพันธ์ของรูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายใน และ5) ความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายใน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ให้ข้อมูล เป็นประชากรที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย รองผู้บริหารสถานศึกษา 4 คน ครูผู้สอน 167 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 14 คน และคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง 7 คน รวมทั้งสิ้น 192 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเป็นแบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 4 ฉบับ เก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และแปลความหมาย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัญหาการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายใน โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.13 ด้านที่มีปัญหามากเรียงตามลำดับ คือ ด้านการประเมินคุณภาพ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.51 ด้านการควบคุมคุณภาพการศึกษา มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.23 ด้านการตรวจสอบคุณภาพและปรับปรุงโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.01
2. รูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายใน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.57 องค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ผู้บริหารเหนือผู้บริหาร อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.60 รองลงมาคือ ความเป็นเอกภาพ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.59 ส่วนองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ เครือข่ายการเรียนรู้ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายในโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.54 ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการตรวจสอบคุณภาพและปรับปรุงโรงเรียน และด้านการประเมินคุณภาพ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.62 รองลงมาคือ ด้านการควบคุมคุณภาพการศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.40
4. รูปแบบการบริหารและการประกันคุณภาพภายใน มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูง คือ มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ = 0.718 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
5. ความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการประกันคุณภาพภายใน โดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.70 องค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การศึกษาที่เป็นมาตรฐานชาติ อยู่ในระดับมากที่สุด 4.64 รองลงมาคือ การสู่เป้าหมายสูงสุด อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.55 ส่วนองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ผู้บริหารเหนือผู้บริหาร อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.54