รายงานการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียน
ชื่อเรื่อง : รายงานการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ชื่อผู้ศึกษา : นางพัชรี ดีหล้า
ปีที่ศึกษา : ปีการศึกษา 2555
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านและการเขียนคำยากของนักเรียนที่เรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะ และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนอนุบาลพาน (ป่ากว๋าวมิตรภาพที่ 68) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 6 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 20 แผน เวลาเรียน 20 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 แบบทดสอบแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 25 ข้อ ตอนที่ 2 แบบทดสอบแบบอัตนัย จำนวน 15 ข้อ ตอนที่ 3 แบบทดสอบการเขียนคำตามคำบอก จำนวน 10 คำ และตอนที่ 4 แบบทดสอบการอ่านออกเสียง และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ จำนวน 15 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสถิติ t-test
ผลจากการศึกษา พบว่า แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่สร้างขึ้น จำนวน 6 เล่ม มีประสิทธิภาพโดยรวมเท่ากับ 88.61/86.86 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ นักเรียนที่เรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยรวมทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.64)