การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนตรีโกณ
และการนำไปใช้ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นายกล้าณรงค์ ม่วงภูเขียว
สถานศึกษา โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนตรีโกณมิติและการนำไปใช้ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/8 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ที่กำลังศึกษาในปีการศึกษา 2556 จำนวน 49 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง อัตราส่วนตรีโกณมิติและการนำไปใช้ ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 14 แผน 14 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบบันทึกผลหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบประเมินด้านทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ แบบประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ แบบประเมินผลด้านความรู้และความสามารถจากผลงานนักเรียน และแบบทดสอบท้ายวงจรที่ 1–3 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการ 3 วงจร ดังนี้ วงจรที่ 1 ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1-5 วงจรที่ 2 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 6-10 และวงจรที่ 3 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ที่ 11-14 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสรุปความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1.การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนตรีโกณมิติและการนำไปใช้ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นนำ เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะได้ทราบวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละชั่วโมงและได้ทบทวนความรู้เดิม โดยร่วมสนทนาซักถามหรือการตอบคำถาม เป็นต้น 2) ขั้นสอน เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ นักเรียนได้คิด วิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง จากการเชื่อมโยงความรู้เดิมเข้ากับความรู้ใหม่ การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มและกล้าแสดงออก ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอนดังนี้ 2.1) ขั้นแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล นักเรียนได้เผชิญสถานการณ์ปัญหาที่ครูสร้างขั้น จากใบกิจกรรมและคิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยบันทึกผลที่ได้ในใบกิจกรรม แล้วนำเสนอต่อกลุ่มย่อย 2.2) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่ม นักเรียนจะเข้ากลุ่มย่อย แล้วนำใบกิจกรรมที่ทำเป็นรายบุคคล นำเสนอสมาชิกในกลุ่มร่วมกันระดมสมอง อภิปรายซักถามข้อสงสัยที่เกิดจากการนำเสนอของสมาชิกแต่ละคนและช่วยกันตรวจสอบวิธีการแก้ปัญหาของสมาชิกและเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดเป็นวิธีแก้ปัญหาของกลุ่มและบันทึกลงในในกิจกรรม 2.3) ขั้นเสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งชั้น นักเรียนแต่ละกลุ่มจะเสนอวิธีการแก้ปัญหาของกลุ่มต่อชั้นเรียน ผู้เรียนทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นและเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากที่สุด ครูอธิบายเพิ่มเติมวิธีการแก้ปัญหาที่กลุ่มไม่ได้เลือก 3) ขั้นสรุป ในขั้นนี้นักเรียนและครูร่วมกันสรุปความคิดรวบยอด หลักการและกระบวนการแก้ปัญหาในเรื่องที่เรียน โดยครูอธิบายเพิ่มเติมในแนวคิดและหลักการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 4) ขั้นฝึกทักษะ/การนำไปใช้ ในขั้นนี้นักเรียนฝึกทักษะจากแบบฝึกทักษะที่ครูสร้างขึ้น เป็นสถานการณ์ที่หลากหลายคล้ายคลึงกับสถานการณ์เดิมหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของนักเรียน นักเรียนเลือกทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา
2. ผลการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อัตราส่วนตรีโกณมิติและการนำไปใช้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากผลการวิจัยพบว่า นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ70 ขึ้นไป โดย นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ย 23.39 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 77.97 และมีนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ จำนวน 41 คน คิดเป็นร้อยละ 83.67