เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ: งานวิจัยเชี่ยวชาญ
ชื่อเรื่อง รูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้วิจัย นางสาวปริชาติ ชมชื่น
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2556
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ทั่วไปเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการในการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ 2) สร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ 3) นำรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ ไปใช้ในสภาพจริง และ4) นำเสนอผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ
การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการในการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ โดยการสัมภาษณ์ผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ครูฝ่ายวิชาการและคณะกรรมการสถานศึกษาในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5 โรงเรียน ขั้นตอนที่ 2 สร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ โดยผู้วิจัยได้ประมวลจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและสรุปสาระสำคัญจากข้อมูลการสัมภาษณ์ และสังเกตโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 5 โรงเรียน จากการศึกษาในขั้นตอนที่ 1 จัดทำคู่มือการดำเนินการตามรูปแบบซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบและคู่มือโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 15 คน ขั้นตอนที่ 3 นำรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ ไปใช้ที่โรงเรียนชนะใช้กิจการ อำเภอกันทรลักษ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 และขั้นตอนที่ 4 นำเสนอผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ ซึ่งดำเนินการนำรูปแบบไปใช้ตามคู่มือกำหนดและเป็นการดำเนินการนำไปใช้ตามกระบวนการวิจัยปฏิบัติการ จำนวน 2 วงรอบ พร้อมด้วยการประเมินประสิทธิผล ประเมินรูปแบบที่นำไปใช้โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการนำรูปแบบไปใช้ในโรงเรียนชนะใช้กิจการ จำนวน 26 คน
ผลการวิจัยพบว่า
1.สภาพปัจจุบันในการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ ได้มีการดำเนินการโดยบริหารงานในด้านการพัฒนาหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา การวางแผนและพัฒนาการส่งเสริมทางวิชาการ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การนิเทศภายใน การวัดและประเมินผล สภาพปัญหาส่วนใหญ่โรงเรียนขยายโอกาสผู้เรียนมาจากสภาพหลายแหล่งพื้นที่ จึงทำให้เกิดความแตกต่าง ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ในส่วนของชุมชนไม่มีความเข้าใจในการมีส่วนร่วมในการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผลในด้านกระบวนการบริหารที่ชัดเจนเพียงพอจึงทำให้เข้าร่วมยังไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควรเพราะในบางส่วนก็เป็นการดำเนินการของสถานศึกษาเท่านั้น ส่วนความต้องการ คือ ผู้มีส่วนร่วมต้องการให้สถานศึกษาสร้างความเข้าใจในกระบวนการบริหารงานวิชาการตั้งแต่ต้นเพื่อการเข้าใจแนวทางปฏิบัติ กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้เข้าร่วมให้ชัดเจน จะทำให้การบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล ประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดี
2. ผลจากการสร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ ประกอบด้วยองค์ประกอบการบริหารงานวิชาการ 7 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) การพัฒนาหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ 2) การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ 3) การพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา 4) การวางแผนและพัฒนาการส่งเสริมทางวิชาการ 5) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ 6) การนิเทศภายใน และ7) การวัดและประเมินผล
3. ผลการนำรูปแบบการบริหารงานวิชาการโดยบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประสิทธิผล โรงเรียนชนะใช้กิจการ ไปใช้ในสภาพจริง พบว่า มีผลการประเมินสภาพบริบทหลังจากนำรูปแบบไปใช้ทำให้สภาพการบริหารงานวิชาการมีสภาพการบริหารที่เป็นระบบ มีการพัฒนาในด้านขอบข่ายการบริหารงานวิชาการทั้ง 7 ด้านมากกว่าก่อนนำรูปแบบไปใช้ และผลการประเมินด้านประสิทธิผลโดยรวมหลังการนำรูปแบบไปใช้อยู่ในระดับมาก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า หลังการนำรูปแบบไปใช้ทุกรายการมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นโดยรายการด้านประสิทธิภาพมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด
4. ผลจากการนำเสนอรูปแบบ พบว่ารูปแบบมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ ซึ่งผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด ทุกด้าน