การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA M
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
2) ศึกษากระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่อง เลขยกกำลัง
3) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีคะแนนเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และมีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีคะแนนตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านหนองบัวน้อยห้วยโจดโนนขามแป สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 จานวน 11 คน รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรปฏิบัติการวิจัย 2 วงจร เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติการ ได้แก่ แผนการจัดกิจการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา เรื่องเลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน แบบบันทึกหลังสอนและแบบทดสอบกระบวนการแก้ปัญหาท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ คือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และสรุปความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. กิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา เรื่อง เลขยกกำลัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 7 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นทบทวนความรู้เดิม เป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียน โดยผู้วิจัยแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ และการทบทวนความรู้ที่เคยเรียนมาซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้ใหม่ที่จะได้ เรียน โดยใช้กิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การทบทวนความรู้โดยตรง การเล่นเกม เป็นต้น 2) ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ นักเรียนแสวงหา ความรู้จากสถานการณ์ปัญหาที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันที่ครูจัดเตรียมไว้ให้
3) ขั้นศึกษาและสร้างความเข้าใจข้อมูลและเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม นักเรียนทำความเข้าใจกับข้อมูลความรู้ใหม่ที่หามาได้โดยอาศัยการเชื่อมโยงกับความรู้เดิม ตามกระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นทำความเข้าใจปัญหา ขั้นการวางแผนแก้ปัญหา ขั้นดำเนินการตามแผน และขั้นตรวจสอบหรือมองย้อนกลับ 4) ขั้นแลกเปลี่ยนความรู้ เข้ากับกลุ่ม นักเรียนเข้ากลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในกลุ่ม อาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนเอง 5) ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้ นักเรียนจะสรุปแนวคิด หลักการ มโนมติและกระบวนการแก้ปัญหา นำความรู้ที่ได้รับทั้งหมด ทั้งที่ความรู้เดิมและความรู้ใหม่ มาจัดให้เป็นระบบระเบียบ โดยใช้กิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การสรุปโดยตรง การเล่นเกม การทำผังมโนมติ 6) ขั้นแสดงผลงาน นักเรียนจัดแสดงผลงานกลุ่มโดยจัดป้ายนิเทศ เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความคิดในการนำเสนอผลงานอย่างเต็มที่ มีกิจกรรมการลงมติให้คะแนนกับกลุ่มที่มีผลงานยอดเยี่ยม 7) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ ในขั้นนี้นักเรียนทำแบบฝึกเสริมทักษะที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผลของการพัฒนาพบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหา สามารถแสวงหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถตรวจสอบความรู้ตามหลักการได้ถูกต้อง กล้าแสดงความคิดเห็นในการร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ มีทักษะในการทำงานกลุ่ม และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาได้
2. ผลการศึกษากระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้แบบทดสอบท้ายวงจรแบบอัตนัย พบว่า กระบวนการแก้ปัญหาในวงจร
ที่ 1 อยู่ในระดับพอใช้ นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 75.91 และนักเรียนจำนวนร้อยละ100 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดมีคะแนนตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป กระบวนการแก้ปัญหาในวงจรที่ 2 อยู่ในระดับดี นักเรียน มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ80.23 และนักเรียนร้อยละ 100 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป
3. ผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 76.06 และมีจำนวนนักเรียนร้อยละ 72.73 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป