ผลงานทางวิชาการรองวิภาดา ศรีลาศักดิ์ เทศบาลเมืองมุกดาหาร
โรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) : การวิจัยปฏิบัติการ
แบบมีส่วนร่วม
ผู้วิจัย นางวิภาดา ศรีลาศักดิ์
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ
สถาบัน โรงเรียนทีโอเอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) สังกัดกองศึกษา
เทศบาลเมืองมุกดาหาร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่รายงาน 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาของครูในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองมุกดาหาร 2) หาแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองมุกดาหาร 3) เพื่อติดตามและประเมินผลของการพัฒนาศักยภาพครูในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองมุกดาหาร โดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีขั้นตอนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน (planning) การปฏิบัติการ (Action) การสังเกตการณ์ (Observation) และการสะท้อนกลับ (Reflection) จำนวน 2 วงรอบ กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 9 คน ประกอบด้วย ผู้วิจัย จำนวน 1 คน ผู้ร่วมวิจัย คือ ครูในโรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) ที่สอน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 8 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 51 คน ซึ่งได้มาโดย การเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการประชุมครู แบบบันทึกการสัมภาษณ์ผู้ร่วมวิจัย แบบประเมินการประชุมเชิงปฏิบัติการ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรม แบบบันทึกภาคสนามของผู้วิจัย แบบประเมินพฤติกรรม การอ่านของนักเรียน แบบประเมินการพัฒนาครู การวิเคราะห์ เชิงปริมาณ ใช้สถิติหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการตรวจสอบข้อมูลเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เนื้อหา จัดหมวดหมู่ของเนื้อหาและนำเสนอโดยความเรียง นำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพและปัญหาของครูในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) พบว่า 1) สภาพเกี่ยวกับการมีนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) พบว่า นักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่านส่วนใหญ่ สนใจการเล่นกับเพื่อนมากกว่าการอ่านหนังสือ ซึ่งส่งผลทำให้ การเรียนต่ำ นอกจากนี้ครูยังขาดเทคนิคและวิธีการในการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการพัฒนาทักษะและกระบวนการด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ครู โดยจะต้องมีการกำกับ และติดตามผล เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียนอย่างจริงจัง 2) ปัญหาของครูในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) พบว่า ครูขาดความรู้ความเข้าใจและขาดเทคนิควิธีการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ซ้ำซากและไม่ตรงกับความสนใจของนักเรียน ครูแต่ละคนไม่มีการปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหานักเรียนในการอ่านอย่างจริงจัง ประกอบกับมีภาระงานมากเกินไป ทำให้ขาดการติดตาม กำกับดูแลเอาใจใส่นักเรียนให้มีนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ปกครองนักเรียนนั้นยังไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ต่อนักเรียนในด้านการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านมากนัก
2. แนวทางการพัฒนาศักยภาพครูในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) มีดังนี้
2.1 การศึกษาดูงานในโรงเรียนต้นแบบ โดยใช้การสังเกตและการสัมภาษณ์
2.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูในการเสริมสร้างนิสัย
รักการอ่านมี 3 ด้าน ดังนี้
2.2.1 ความรู้ความเข้าใจในหลักการ ทฤษฎีในการอ่าน
2.2.2 การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน
ไปจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
2.2.3 การนำแผนการจัดการเรียนรู้ ในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน
ไปจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
2.3 การนิเทศภายใน
3. ผลการพัฒนาศักยภาพครูในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียน ที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) พบว่า
3.1 ด้านความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ก่อนการพัฒนา กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 2 คน จากผู้ร่วมวิจัยจำนวน 8 คน มีระดับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ แต่หลังจากได้รับการพัฒนา
กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทั้ง 8 คน มีระดับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างนิสัยรัก การอ่านของนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ แสดงว่าผู้ร่วมวิจัยทั้ง 8 คน มีความก้าวหน้าในการพัฒนา จากการประเมินผลกลุ่มผู้ร่วมวิจัย เกี่ยวกับการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า ความคิดเห็นในภาพรวมเกี่ยวกับการประชุมเชิงปฏิบัติการมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.36 อยู่ในระดับมาก
3.2 ด้านการเขียนแผนการจัดกิจกรรมเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน พบว่า หลังจากการพัฒนาโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการ แล้วได้มีการประเมินพฤติกรรมครูเกี่ยวกับการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีความเหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 100
3.3 ด้านการจัดกิจกรรมการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โดยใช้กิจกรรมเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน 8 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) กิจกรรมส่งเสริมการใช้ห้องสมุด 2) กิจกรรมยอดนักเล่านิทาน 3) กิจกรรมยอดนักอ่าน 4) กิจกรรมวาดภาพระบายสี 5) กิจกรรมแข่งขันการอ่าน 6) กิจกรรมจัดนิทรรศการหนังสือ 7) กิจกรรมแข่งขันเปิดพจนานุกรม และ 8) กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาจากหนังสือ โดยดำเนินการพัฒนาเป็น 2 วงรอบ คือ วงรอบที่ 1 พัฒนาในระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2555 ซึ่งผลการพัฒนาการจัดกิจกรรมนี้ปรากกฎว่า กิจกรรมยอดนักอ่านยังมีคนที่ให้ความสนใจร่วมกิจกรรมเพียง 16 คน กลุ่มผู้วิจัย จึงมีประชุมเพื่อปรึกษาหารือกัน โดยมีความเห็นว่า ครูต้องทำการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการสริมสร้างนิสัยการรักการอ่าน พร้อมกับจัดกิจกรรมยอดนักอ่านกับนักเรียนจำนวน 24 คน ในวงรอบที่ 2 ในระหว่างวันที่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2555 ซึ่งนักเรียนให้ความสนใจและร่วมทำกิจกรรมครบทุกคน นอกจากนี้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยได้ประเมินพฤติกรรมด้านการอ่านของนักเรียน ก่อนและหลังการดำเนินการพัฒนา พบว่า ก่อนดำเนินการจัดกิจกรรม นักเรียนมีพฤติกรรมการมีนิสัย รักการอ่าน อยู่ในระดับน้อย ( = 1.86) หลังการพัฒนานักเรียนมีการแสดงพฤติกรรมอยู่ ในระดับมากที่สุด ( = 4.75)
จากการสรุปผลการพัฒนาศักยภาพครู ในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนที โอ เอ วิทยา (เทศบาล 1 วัดคำสายทอง) ทั้ง 3 ด้าน คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน และการจัดกิจกรรมการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาศักยภาพครู ในการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ตามแนวทางการพัฒนา 3 แนวทาง คือ การศึกษาดูงานในโรงเรียนต้นแบบ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย