รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)
ผู้ศึกษาวิจัย นายภูมินทร์ บุญหล้า
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียน โรงเรียนบ้านคอกม้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1
บทคัดย่อ
จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ เป็นวิชาที่นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ยาก และทำให้นักเรียนขาดความมั่นใจในตัวเองในการเรียนรู้โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับการเขียนคำศัพท์และการจำคำศัพท์ เป็นผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นปัญหาในการจัดการเรียนการสอน ผู้วิจัยในฐานะผู้สอนจึงต้องการพัฒนาทักษะการเขียน จึงได้พัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 วิชาภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนมากยิ่งขึ้น และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ในการศึกษาครั้งนี้มีความ
มุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อสร้างแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนบ้านคอกม้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1 จำนวน 9 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบฝึกทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับผู้เรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) จำนวน 9 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 9 แผน 18 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นแบบเลือกตอบชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดัชนีประสิทธิผลและการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. แบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.65/84.74 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเขียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนมีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.59