การพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนเท
โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ชื่อผู้วิจัย นางกัญศรี มณีรอด
ปีการศึกษา 2555
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสภาพปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงาน สร้างรูปแบบการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงานและ พัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย สำนักการศึกษา เทศบาลนครเชียงราย กลุ่มตัวอย่างได้แก่ครูปฏิบัติการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ในปีการศึกษา 2555 จำนวน 94 คน นักเรียน จำนวน 342 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 436 คน มีวิธีการดำเนินการวิจัยตามระเบียบวีการวิจัยปฏิบัติการ 4 ขั้นตอนได้แก่ ขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติการ ขั้นสังเกตการณ์ ขั้นสะท้อนผลปฏิบัติการ เป็นวงจร PAOR สะท้อนกลับ 2 วงรอบ โดยใช้รูปแบบการพัฒนา 4 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาเอกสาร การศึกษาดูงาน การนิเทศแบบมีส่วนร่วม และ การอบรมเชิงปฏิบัติการ มาดำเนินการพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงาน 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นการกำหนดเรื่องที่จะสอน ขั้นการทำโครงงาน ขั้นการนำไปปฏิบัติ และ ขั้นนำเสนอผลงาน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบประเมินและแบบบันทึก การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา มาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงบรรยาย และนำเสนอผลการวิจัย โดยวิธีเชิงพรรณนา
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน จากการวิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการด้วยการสำรวจสภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงาน การประเมินสมรรถภาพความรู้พื้นฐานของครูในด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พบว่าครูขาดความรู้ประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน ไม่มีความรู้ในการทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่ สามารถจัดกิจกรรมตามรูปแบบอย่างหลากหลายวิธี จากการสอบถามความคิดเห็น การสัมภาษณ์ พบว่าครูต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงานมากกว่าการจัดการเรียนการสอนแบบอื่น ๆ
2. ผลการพัฒนาครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงาน ตามรูปแบบการพัฒนา 4 รูปแบบ คือ การศึกษาเอกสาร การศึกษาดูงาน การนิเทศแบบมีส่วนร่วม และการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนากิจกรรมการศึกษาเอกสารอยู่ในระดับปานกลาง กิจกรรมการศึกษาดูงานอยู่ในระดับดี กิจกรรมการนิเทศแบบมีส่วนร่วมอยู่ในระดับดี และผลการพัฒนากิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการอยู่ในระดับดี
3. ผลการพัฒนาครูด้านความรู้ความสามารถในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงานอยู่ในระดับดี