การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ฯ โดยนางประทุมทิพย์ ไพเราะ
ชื่อเรื่องวิจัย การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยบูรณาการ
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่อง“สู่วิถีท่าอิฐชีวิตพอเพียง”
โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์
ชื่อผู้วิจัย นางประทุมทิพย์ ไพเราะ
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2558
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา กำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพและแนวทางการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง“สู่วิถีท่าอิฐชีวิตพอเพียง” โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ 2) เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง“สู่วิถี ท่าอิฐชีวิตพอเพียง” โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ 3) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง “สู่วิถีท่าอิฐชีวิตพอเพียง” โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์กำหนดขั้นตอนในการวิจัยเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 2 การพัฒนากระบวนการ ขั้นที่ 3 การทดลองใช้กระบวนการ และขั้นที่ 4 การปรับปรุงกระบวนการระยะเวลาในการจัดกิจกรรม 20 ชั่วโมง ผลการวิจัยพบว่า
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน โดยการสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 30 คนและสัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จำนวน 8 คนและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดการศึกษา จำนวน 5 คน และการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลจากการศึกษา สามารถนำไปออกแบบกิจกรรมและกำหนดขั้นตอนการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดย บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างกระบวนการ พบว่า หลักการของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง“สู่วิถีท่าอิฐ ชีวิตพอเพียง” คือ THA-IT Model ประกอบด้วย การทำงานเป็นทีม (T-Teamwork), การทำด้วยหัวใจ (H-Heart) , การทำอย่างกระตือรือร้น (A-Active), การบูรณาการสู่ชีวิตจริง (I-Integration) และการสร้างทักษะการคิด, T-Thinkingขั้นตอนการดำเนินการออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่ 1) ขั้นเตรียมการ (Preparation) 2) ขั้นกำหนดเป้าหมาย (Goal setting) 3) ขั้นดำเนินงาน (Action Together) 4) ขั้นสะท้อนผล (Reflection) โดยในขั้นดำเนินงานได้ใช้กระบวนการของวงจรคุณภาพ Deming คือ PDCA เพื่อควบคุม กำกับ ติดตามให้การดำเนินงานเป็นไปในเชิงระบบและมีคุณภาพการจัดการเรียนรู้ในกระบวนการใช้แนวคิด CIPPA MODEL กระบวนการมีองค์ประกอบ 7 ประการ คือ สภาพปัญหาและความจำเป็น หลักการ วัตถุประสงค์ โครงสร้างเนื้อหาและเวลา กระบวนการจัดการเรียนรู้ สื่อ/อุปกรณ์และแหล่งเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลผลการประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องของกระบวนการโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า อยู่ในระดับดีมาก และผลการศึกษานำร่อง (Pilot Study) กระบวนการที่พัฒนาขึ้น พบว่า มีความชัดเจน เหมาะสมกับนักเรียน และเหมาะสมกับเวลาสามารถนำไปใช้ได้จริง
ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้กระบวนการ ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ทดลองกับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ภาคเรียนที่ 1ปีการศึกษา 2558 โดยทำการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) มาชั้นละ 1 ห้อง ได้จำนวนห้องเรียนเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 6 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 208 คน ทำการทดลอง 20 ครั้ง ใช้แบบแผนการทดลองแบบ One Group Pretest – Posttest Design ผลการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองชั้นประถมศึกษาปีที่1-6 ที่ได้รับกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อง “สู่วิถีท่าอิฐ ชีวิตพอเพียง หลังการทดลองพบว่า พฤติกรรมความพอเพียงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการสอบถามความ พึงพอใจของครู ผู้ปกครอง และนักเรียน มีความพึงพอใจต่อกิจกรรมในกระบวนการที่ออกแบบและขั้นตอนการดำเนินการ หากกำหนดระดับความพึงพอใจผู้ปกครองทุกคนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
ขั้นตอนที่ 4 การปรับปรุงกระบวนการ ผลจากทดลองใช้กระบวนการได้ข้อค้นพบที่จะสามารถนำไปปรับปรุงกระบวนการให้มีความเหมาะสมมากขึ้น คือ การออกแบบกิจกรรมบางกิจกรรมให้นักเรียนต่างชั้นได้ทำร่วมกันเพื่อให้เกิด การฝึกนิสัยผู้นำผู้ตาม และแบ่งปันเอื้ออาทรกัน การเลือกใช้กิจกรรมการเขียนบันทึกให้กับนักเรียน และการเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมให้นานกว่านี้ โดยกำหนดให้ทำติดต่อกันตลอดภาคเรียนหรือปีการศึกษา