ประเมินโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
โรงเรียนโชคชัยสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา
ชื่อผู้รายงาน นายธีรภัทรวัฒน์ กล้าแข็ง
ปี พ.ศ. 2557
บทคัดย่อ
สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เป็นแนวทางการดำเนินงานที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ให้นำพืชพรรณไม้ในโรงเรียนพัฒนาเป็นสื่อการเรียนการสอนในกลุ่มสาระต่างๆ อันจะเกิดผลประโยชน์แก่ นักเรียน ครู และชุมชน จนมาในปี 2556 โรงเรียนโชคชัยสามัคคี ได้ดำเนินการขอเข้ารับการประเมินเพื่อรับป้ายพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยเหตุนี้ ผู้รายงานจึงได้ดำเนินการประเมินโครงการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนโชคชัยสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ 1. เพื่อประเมินองค์ประกอบด้านต่างๆ ของโครงการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนโชคชัยสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต 2. เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจที่มีต่อโครงการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนโชคชัยสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา 3. เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการต่อไป ของโครงการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนโชคชัยสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา
การประเมินโครงการใช้รูปแบบของ CIPP Model มีประชากรที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ผู้บริหารและครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และนักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนโชคชัยสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา ผู้วิจัยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยการเปิดค่าตารางของ Krejcie & Morgan จากประชากรทั้งหมด 7,240 คน ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 364 คน ได้แก่ ผู้บริหารและครู จำนวน 50 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 14 คน ผู้ปกครองนักเรียน 150 คน และนักเรียน 150 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ คือ แบบสอบถาม โดยแบ่งแบบสอบถามออกเป็นด้าน 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป เป็นการสอบถามถึงข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ตำแหน่ง เพศ อายุ และการศึกษา ตอนที่ 2 การประเมินโครงการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนโชคชัยสามัคคี เป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ด้านละ 15 ข้อ ได้แก่ ด้านที่ 1 บริบท ค่าความเชื่อมั่น .83 ด้านที่ 2 ปัจจัยเบื้องต้น ค่าความเชื่อมั่น .88 ด้านที่ 3 กระบวนการ ค่าความเชื่อมั่น .87 และด้านที่ 4 ผลผลิต ค่าความเชื่อมั่น .75 ตอนที่ 3 ความพึงพอใจต่อโครงการฯ เป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ ค่าความเชื่อมั่น .76 ตอนที่ 4 ข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการฯ เป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิด เพื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการฯ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า แบบสอบถามตอนที่ 1 แบ่งเป็นเพศหญิง 184 คน เป็นเพศชาย 180 คน แบ่งออกตามอายุ อายุน้อยกว่า 15 ปี 40 คน อายุ 15-25 ปี 110 คน อายุ 26-35 ปี 56 คน อายุมากกว่า 35 ปี 158 คน แบ่งออกตามการศึกษา ระดับประถม 24 คน มัธยม 208 คน ปวช.15 คน ปวส. 29 คน ปริญญาตรี 66 คน สูงกว่าปริญญาตรี 22 คน ผลการเคราะห์แบบสอบถาม ตอนที่ 2 แบบสอบถามความคิดเห็นต่อโครงการฯ ด้านบริบท ภาพรวมอยู่ในระดับมาก แบบสอบถามความคิดเห็นต่อโครงการฯ ด้านปัจจัยเบื้องต้น ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง แบบสอบถามความคิดเห็นต่อโครงการฯ ด้านกระบวนการ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก แบบสอบถามความคิดเห็นต่อโครงการฯ ด้านผลผลิต ภาพรวมอยู่ในระดับมาก แบบสอบถามความพึงพอใจต่อโครงการฯ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป การประเมินองค์ประกอบด้านต่างๆ ของโครงการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนโชคชัยสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา อันได้แก่ ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ในภาพรวมทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับมาก ระดับความพึงพอใจที่มีต่อโครงการฯ ในภาพรวมทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับมาก การศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการต่อไปของโครงการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนโชคชัยสามัคคี จังหวัดนครราชสีมา ควรนำกระบวนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะการเป็นบุคคล แห่งการเรียนรู้ของนักเรียนมากำหนดเป็นมาตรการ และนโยบายที่สำคัญในการพัฒนาคุณลักษณะการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ของนักเรียนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อจะได้ทราบว่ากระบวนการพัฒนามีผลต่อคุณภาพนักเรียนมากน้อยเพียงใดด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ
ผู้บริหารสามารถนำรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ไปประยุกต์ใช้ในการประเมินโครงการอื่นๆ ของโรงเรียน เพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของโครงการ กระบวนการดำเนินโครงการ และผลผลิตของโครงการ โดยการประเมิน 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนการดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เพื่อนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้ในการวางแผนแก้ปัญหา หรือพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน