การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี
สืบเสาะหาความรู้ 5Es สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้ศึกษา นายปรีดา คูณวงษ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ
ปีที่พิมพ์ 2556
บทคัดย่อ
การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี โดยใช้กระบวนการสืบเสาะ
หาความรู้ 5Es สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 5Es เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน ศึกษาพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 5Es กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ที่เรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มเติม วิชาเคมี 3 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) รวม 41 คน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Pre Experimental Designs) ใช้รูปแบบหนึ่งกลุ่มสอบก่อน – สอบหลัง (One Group Pretest-Posttest Design) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมและแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรม
การเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ 5Es สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี เป็นแบบทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ 4) แบบประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม ประกอบด้วยรายการประเมิน จำนวน 11 ข้อ และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อ
การเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี รายวิชาเคมี 3 จำนวน 1 ชุด มีข้อคำถาม 15 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติ t-test แบบ Dependent Group และนำข้อค้นพบมาสรุปในเชิงพรรณนาวิเคราะห์ ประเมินสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งนำไปสู่การสรุปผลการวิจัย
ผลการวิจัย พบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.10 /81.83 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนด
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนมีพฤติกรรมการทำงานกลุ่มในการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีอยู่ในระดับดี
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี รายวิชาเคมี 3 โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้อยู่ในระดับมาก