รูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ
ผู้วิจัย นางสาวจารี วุฒิมานพ
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
สถานที่ทำงาน โรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ สังกัดสำนักเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล
ปีที่พิมพ์ 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันสภาพที่พึงประสงค์และความต้องการจำเป็นการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ 2) สร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ และ 4) ประเมินรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ การวิจัยมี 4 ระยะ กลุ่มตัวอย่างและกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ การศึกษาความคิดเห็นศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์และความต้องการจำเป็น โดยการสำรวจสอบถามจำนวน 99 คน และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) จำนวน 7 คน และยกร่างและตรวจสอบความเหมาะสมและความมีประสิทธิผลของรูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน กลุ่มตัวอย่าง ครูผู้สอน จำนวน 32 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 735 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 7 คน (ไม่นับรวมผู้บริหารโรงเรียนและตัวแทนครู) รวม 774 คน ปีการศึกษา 2564 เครื่องมือที่ใช้ในวิจัย คือ แบบสอบถาม แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม แบบทดสอบ แบบสอบถามความพึงพอใจ แบบประเมินกับครู แบบประเมินผลการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และแบบประเมินเจตคติ สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test และ PNI ดัชนีความต้องการจำเป็น
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ และความต้องการจำเป็นสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ พบว่า สภาพปัจจุบัน ระดับปฏิบัติโดยรวมอยู่ในระดับน้อย เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า สภาพปัจจุบันโดยรวมอยู่ในระดับน้อย และสภาพที่พึงประสงค์ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านการเสริมสร้างสมรรถนะครู มีระดับปฏิบัติสูงกว่าด้านอื่น ๆ รองลงมา คือ ด้านการบริหารแบบมีส่วนร่วม และด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ตามลำดับ เมื่อพิจารณาความต้องการจำเป็นจากการหาค่า PNI รายข้อ พบว่า การวางแผนกำหนดทิศทางสร้างเครื่องมือ มีค่า PNI สูงกว่าข้ออื่น ๆ รองลงมาคือ การลงมือปฏิบัติ และการร่วมประเมินเสริมกำลังใจ ตามลำดับ เมื่อพบว่า มีค่า PNI ค่าเฉลี่ยเท่ากัน จึงได้ดำเนินการหาค่า PNI (Modified) ซึ่งพบว่า มี 2 ข้อที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากัน คือ การร่วมเรียนรู้เพื่อพัฒนา และการประเมินเสริมกำลังใจ และอีก 1 คู่ที่มีค่า PNI เท่ากัน คือ การเรียนรู้เพื่อพัฒนา และการสรุปองค์ความรู้ของผู้เรียนที่ได้จากการเรียน เพื่อสะท้อนความคิดหรือความรู้ที่ได้และตรวจสอบความคลาดเคลื่อน ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเรียน ผลการสนทนากลุ่มพบว่า สรุปเป็นรายด้าน จำนวน 3 องค์ประกอบหลัก 15 ตัวชี้วัด
2. ผลการสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ พบว่า มี 5 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหา 4) กระบวนการ 5) การวัดและประเมินผล และผลลัพธ์จากการพัฒนา โดยรูปแบบมีความเหมาะสม และความมีประสิทธิผลเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก เพราะเป็นกระบวนการทำงานที่เปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามีส่วนร่วมคิดตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมทำงาน ร่วมรับผิดชอบอย่างสร้างสรรค์ก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพัน มีข้อตกลงทางใจร่วมกันในการบริหารโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิมีความคิดเห็นว่าความต้องการพัฒนาตามองค์ประกอบ และตัวชี้วัดของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ พบว่า ผลการทดสอบความรู้ ความเข้าใจด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู หลังการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบ ค่า t – test เท่ากับ 21.35 ความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ ผลการตรวจสอบการจัดทำหน่วยเรียนรู้เชิงรุกของครู พบว่า โดยรวมมีคะแนนระดับคุณภาพเท่ากับ 3.73 อยู่ระหว่างดีถึงดีมาก เมื่อพิจารณารายบุคคลมีคะแนนระดับคุณภาพอยู่ระหว่างดีถึงดีมาก และผลการตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้ เชิงรุกของครู พบว่า โดยรวมมีคะแนนระดับคุณภาพ เท่ากับ 3.73 อยู่ระหว่างดีถึงดีมาก เมื่อพิจารณารายบุคคลมีคะแนนระดับคุณภาพอยู่ระหว่างดีถึงดีมาก และผลการประเมินการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าคะแนนประเมินระดับมากที่สุด จำนวน 3 ลำดับแรก คือ 1) ครูใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลายตามกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกมีผลการประเมินในระดับมากที่สุด 2) ครูใช้คำถามกระตุ้น ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการเรียนรู้เชิงรุกมีผลการประเมินระดับมากที่สุด และ 3) ครูมีแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้เชิงรุกมีผลการประเมินระดับมากที่สุด และครูผู้สอนมีเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยรวมอยู่ในระดับดี
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ พบว่า ครูมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับระดับมากที่สุด และประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล พบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 รายวิชาพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ปีการศึกษา 2564 และปีการศึกษา 2565 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับ 3 ขึ้นไปสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 93.13 เมื่อจำแนกรายระดับชั้น พบว่า ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนที่ได้ระดับลการเรียนเฉลี่ย 3 ขึ้นไปมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 100 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนนักเรียนที่ได้ระดับลการเรียนเฉลี่ย 3 ขึ้นไปน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 90.67 เป้าหมายของโรงเรียน คือ นักเรียนร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป ดังนั้นจึงบรรลุตามเป้าหมายของโรงเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4 กลุ่มสาระหลักของนักเรียนโรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล เปรียบเทียบปีการศึกษา 2564 และ 2565 ทุกกลุ่มสาระมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น ระดับชั้นที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูงกว่าชั้นอื่น ๆ คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 รองลงมาคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มสาระ ปีการศึกษา 2564 พบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สูงกว่าชั้นอื่น ๆ รองลงมา ได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามลำดับ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สูงกว่าชั้นอื่น ๆ รองลงมา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และชั้นมัธยมศึกษาศึกษาปีที่ 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สูงกว่าชั้นอื่น ๆ รองลงมาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามลำดับ และกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รองลงมา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามลำดับ